1. อยากทราบสิทธิการลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร
ตอบ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.2555 ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อน
หรือในวันที่ลาภายใน 90 วันนับ แต่วันที่คลอดบุตรและให้มีสิทธิลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ
2. ขอทราบหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญในครั้งแรก
ตอบ ต้องรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์นับแต่วันเริ่มรับราชการจนถึงวันที่ 28 พฤษภาคมของปี
3. พนักงานราชการสามารถกู้เงินเพื่อซื้อบ้านจากธนาคารกรุงไทยได้หรือไม่
ตอบ พนักงานราชการไม่สามารถกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหรือกู้อเนกประสงค์ตามข้อตกลงระหว่างกรมฯ กับ บมจ.ธนาคารกรุงไทยได้ แต่หากปฏิบัติงานครบ 1 ปี สามารถกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ตามข้อตกลงระหว่างธนาคารกับกรมส่งเสริมสหกรณ์
4. การปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่ม ให้สูงขึ้นเป็นระดับชำนาญการพิเศษ ต้องมีผู้ใต้บังคับบัญชากี่คน
ตอบ จะต้องเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาไม่น้อยกว่า 4 ตำแหน่งโดยต้องเป็นตำแหน่งข้าราชการประเภทวิชาการ ไม่น้อยกว่า 2 ตำแหน่งส่วนที่เหลืออีก 2 ตำแหน่งอาจเป็นตำแหน่งข้าราชการประเภททั่วไปหรือพนักงานราชการ ซึ่งปฏิบัติงานลักษณะเดียวกับข้าราชการมานับรวมได้ โดยพนักงานราชการที่กำหนดเป็นกรอบพนักงานราชการ:ข้าราชการเท่ากับ 2:1 (ตามเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด)
5. การย้ายหมุนเวียนข้าราชการภายในสำนักงานสหกรณ์จังหวัด แนวทางปฏิบัติเป็นอย่างไร
ตอบ การย้ายข้าราชการไปดำรงตำแหน่งใด ต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งประเภทเดียวกันและในระดับเดิม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งย้าย (มาตรา 57(11) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551) เว้นแต่..
1. การย้ายข้าราชการไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่ม/หัวหน้าฝ่ายหรือตำแหน่งเทียบเท่า
2. การย้ายข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังกรมเพื่อให้อธิบดีเป็นผู้พิจารณาสั่งย้าย
6. ในสำนักงานสหกรณ์จังหวัดมีตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มระดับชำนายการพิเศษว่าง จังหวัดจะแต่งตั้งข้าราชการไปรักษาการในตำแหน่งที่ว่างได้หรือไม่
ตอบ ได้ แต่ควรแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษไปรักษาการในตำแหน่ง ไม่ควรแต่งตั้งระดับชำนาญการไปรักษาการในตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ยกเว้นแต่จะมีเหตุความจำเป็น
7. ข้าราชการมีความประสงค์จะลาออกจากราชการ หากยื่นหนังสือขอลาออกก่อนวันลาออก 7 วันทำการ ได้หรือไม่
ตอบ ตามหลักการให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชา โดยยื่นล่วงหน้าก่อนวันขอลาออกไม่น้อยกว่า 30 วัน หากน้อยกว่า 30 วัน ให้แสดงเหตุผลความจำเป็นต่อผู้มีอำนาจอนุญาตการลาออก หากผู้อนุญาตการลาออกเห็นสมควรจะอนุญาตให้ลาออกตามวันที่ขอลาออกก็ได้
8. การขอปรับให้ได้รับอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิที่สูงขึ้น กรณีที่ทำหนังสือขอปรับคุณวุฒิการศึกษาล่าช้า และมีคำสั่งเลื่อนเงินเดือน ภายหลังวันที่ได้รับวุฒิเพิ่มขึ้น จะได้รับเงินเดือนย้อนหลังหรือไม่
ตอบ เงื่อนไขการปรับให้ได้รับเงินดือนเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ได้รับป.โทเพิ่มขึ้น จะต้องดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยใช้วุฒิป.ตรี มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือไม่ก่อนวันที่ได้รับวุฒิเพิ่มขึ้น ดังนั้น การส่งหนังสือขอปรับล่าช้าไม่ส่งผลต่อการให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ ก.พ.กำหนด
9. ในการจัดทำแบบมอบหมายงานการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้น ควรจัดทำตั้งแต่เมื่อใด
ตอบ ควรมอบหมายงานตั้งแต่เริ่มต้นทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของข้าราชการที่ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการจะต้องมอบหมายงานเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ภารกิจ งาน หรือกิจกรรมของงานและเป้าหมายในการปฏิบัติงานที่คาดหวัง และชี้แจ้งให้ผู้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ เข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานการประพฤติตน รายงานการประเมิน วิธีการประเมิน และหลักเกณฑ์การประเมิน รวมทั้งผลที่จะเกิดจากการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ พ.ศ. 2553
10. ในกรณีที่ไม่มีตำแหน่งว่างในหน่วยงานที่ประสงค์จะย้าย ควรทำอย่างไร
ตอบ แนะนำให้ระบุหน่วยงานที่ประสงค์จะย้าย ไม่เกิน 3 หน่วยงาน (กอง/สำนัก/สำนักงาน หรือหน่วยงานเทียบเท่า) ในหนังสือแจ้งความประสงค์ขอย้ายได้เลย ถึงแม้ว่าหน่วยงานนั้นๆ จะยังไม่ว่าง เนื่องจากตำแหน่งว่างของกรมฯ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น มีการแต่งตั้ง (ย้าย) / การแต่งตั้ง (เลื่อน) / การลาออก/ การให้โอน / การเสียชีวิต ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ท่านได้ย้ายไปในหน่วยงานที่ท่านประสงค์อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องส่งหนังสือแจ้งความประสงค์ขอย้ายหลายครั้ง ทั้งนี้การพิจารณาแต่งตั้ง (ย้าย)ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท่านอธิบดีจะพิจารณาเห็นสมควรด้วย
11. หนังสือแจ้งความประสงค์ขอย้าย มีอายุกี่ปี
ตอบ หนังสือแจ้งความประสงค์ขอย้าย มีอายุการถือใช้ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ในหนังสือแจ้งความประสงค์ขอย้ายโดยกรมฯ จะไม่พิจารณาหนังสือแจ้งความประสงค์ขอย้ายฉบับที่มีอายุเกิน 1 ปี และหากหน่วยงานใดมีความประสงค์จะแก้ไขหรือยกเลิกหนังสือแจ้งความประสงค์ขอย้าย ขอให้แจ้งหนังสือและอ้างถึงหนังสือฉบับเดิมพร้อมแบบแจ้งความประสงค์ขอย้ายฉบับใหม่ไปยังกรมฯ ทั้งนี้ สามารถ Download ตัวอย่างหนังสือแจ้งความประสงค์ขอย้ายและแบบฟอร์มได้ที่เว็บไซต์กองการเจ้าหน้าที่ กลุ่มสรรหาและบรรจุแต่งตั้ง หัวข้อ “แบบฟอร์มดาวน์โหลด” ทั้งนี้ หนังสือแจ้งความ
ประสงค์ขอย้าย จะต้องลงนามโดยผู้บังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชา หมายถึง ผู้อำนวยการกอง/ผู้อำนวยการสำนัก/ผู้อำนวยการสำนักงาน/สหกรณ์จังหวัด หรือเทียบเท่า
12. การจ้างพนักงานราชการ มีระยะเวลาการจ้างอย่างไร
ตอบ การจ้างพนักงานราชการ เป็นระบบการจ้างที่มีสัญญาจ้างตามระยะเวลา ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นตามภารกิจอาจจ้างระยะสั้นเพียง 3 เดือนก็ได้ โดยระยะเวลาสูงสุดของสัญญาจ้าง ไม่เกิน 4ปี หากภารกิจยังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องอาจมีการต่อสัญญาจ้างได้
13. ส่วนราชการสามารถสั่งให้พนักงานราชการไปปฏิบัติราชการนอกเหนือจากที่ระบุในสัญญาจ้างได้หรือไม่
ตอบ ส่วนราชการสามารถสั่งให้พนักงานราชการไปปฏิบัติหน้าที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างได้ โดยระยะเวลาจะต้องไม่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของระยะเวลาการจ้างงานตามสัญญาจ้าง และหากส่วนราชการจะสั่งให้พนักงานราชการไปปฏิบัติงานนอกเหนือจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง จะต้องคำนึงถึงลักษณะงานขอบเขตหน้าที่ ความรับผิดชอบ
กองการเจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริมสหกรณ์
เลขที่ 12 อาคาร 1 ชั้น 5 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
0-2281-3106 0-2281-3106 :
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2565 กองการเจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริมสหกรณ์
Copyright © 2022 Personnel Division of CPD
ภาพและวีดีโอจาก Canva.com , flaticon.com , freepik.com